กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคไข้มาลาเรีย ใน 3 ประเทศแถบทวีปแอฟริกา คือ กานา เคนยา และมาลาวี ซึ่งสามารถลดการเสียชีวิต และอาการรุนแรง แต่ยังคงต้องศึกษาผลระยะยาวของวัคซีนนี้ต่อไป
วันนี้ (8 ตุลาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากประกาศขององค์การอนามัยโลก(WHO) เมื่อวานนี้ (7 ตุลาคม 2564) เรื่อง รับรองวัคซีนป้องกันโรคไข้มาลาเรีย ชื่อ RTS,S/AS01 (RTS,S) ที่มีชื่อทางการค้าว่า “มอสควิริกซ์” สามารถป้องกันโรคไข้มาลาเรีย จากการติดเชื้อโปรโตซัวชนิด Plasmodium falciparum โดยวัคซีนดังกล่าวเหมาะสำหรับกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป โดยต้อง
ฉีดให้ครบ 4 โดส สำหรับการศึกษาวิจัยของวัคซีนดังกล่าวจาก 3 ประเทศของทวีปแอฟริกา คือ กานา เคนยา และมาลาวี ที่ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ ด้วยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และบริษัทแกล็กโซสมิธไคล์น (จีเอสเค) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีน ผลการศึกษาพบว่า สามารถลดการเสียชีวิต และอาการรุนแรงได้ 30% แต่ยังคงต้องศึกษาผลระยะยาวของวัคซีนนี้ต่อไป
สำหรับประเทศไทย ปัญหาโรคไข้มาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขในบางพื้นที่ของประเทศไทย ที่มีการระบาดในพื้นที่ที่ติดกับแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ กัมพูชา และบางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงดำเนินการโครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 ตุลาคม 2564 พบผู้ป่วยแล้ว 2,394 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ จังหวัดตาก 735 ราย รองลงมาได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 466 ราย กาญจนบุรี 344 ราย ราชบุรี 214 ราย และยะลา 173 ราย ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่พบผู้ป่วยติดเชื้อชนิดไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) ร้อยละ 94 และชนิดฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) ร้อยละ 2 โดยอยู่ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 71 ส่วนผู้ป่วยมาลาเรียที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี พบร้อยละ 29 โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดฟัลซิปารัม มีจำนวนทั้งสิ้น 53 ราย แยกเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีเพียง 10 ราย อนึ่งในพื้นที่โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (โครงการ กพด.) ไม่มีนักเรียนป่วยเป็นมาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า หากป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียแล้ว จะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเข้าป่าหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้มาลาเรียให้แพทย์ทราบ สำหรับยาที่ใช้รักษาเชื้อชนิดฟัลซิปารัมในปัจจุบัน คือ Dihydroartemisinin-Piperaquine 3 วัน และ Primaquine 1 วัน และในจังหวัดที่มีการดื้อต่อยารักษา (จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ) ให้ใช้ Artesunate-Pyronaridine (Pyramax) 3 วัน และ Primaquine 1 วัน ซึ่งยังใช้รักษาผู้ป่วยมาลาเรียได้ผลดี
ทั้งนี้ ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้มาลาเรียในครั้งนี้ จะมีประโยชน์ต่อการป้องกันควบคุมโรคเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยมาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum เพียงไม่กี่ราย แต่ยังคงต้องพิจารณาผลการศึกษาเพิ่มเติมก่อนนำมาใช้ หากสถานการณ์เหมาะสม อาจมีโอกาสได้นำวัคซีนเข้ามาใช้ในประเทศไทยเพื่อช่วยในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ประเทศไทยปลอดโรคไข้มาลาเรียภายในปี 2567 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค
วันที่ 8 ตุลาคม 2564