กรมสุขภาพจิต ห่วงประชาชนที่ลังเลฉีดวัคซีนโควิด 19 หากติดเชื้อเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิต ส่งบุคลากรด้านสุขภาพจิตร่วมดูแล ใช้หลัก 3As โน้มน้าวใจประชาชนให้เชื่อมั่นในวัคซีน
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด 19 อย่างเพียงพอ พร้อมรับกับการเปิดประเทศและคลายล็อคดาวน์ โดยกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่ควรได้รับวัคซีน คือ กลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ 60 ปี ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ลดความเสี่ยงการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังมีบางคนที่ลังเล ไม่ยอมที่จะรับวัคซีน เรียกว่า Vaccine Hesitancy ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามระดับโลกทางสาธารณสุข โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความลังเลในการรับวัคซีนมี 3 ข้อ คือ 1.ความไม่มั่นใจต่อวัคซีน ทั้งเรื่องคุณภาพ ผลข้างเคียง 2.ความชะล่าใจ เชื่อว่า วัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันโรคหรือไม่มีความจำเป็น และ 3.ความไม่สะดวก เช่น ช่องทางในการรับวัคซีนที่ยุ่งยาก
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า แนวทางการจัดการเพื่อให้ประชาชนยอมรับวัคซีนในกลุ่มที่มีความลังเล ต้องใช้การสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจโดยใช้หลัก 3As: Ask Affirm Advice 1.ถามเป็น ใช้คำถามปลายเปิดว่ารู้สึกกังวลหรือเป็นห่วงเรื่องอะไร 2.ชมเป็น นำคำตอบมาชื่นชม เช่น การเป็นห่วงสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ดี 3.แนะเป็น ให้คำแนะนำตรงกับสิ่งที่เป็นห่วง เช่น กลัวอาการข้างเคียงรุนแรง ก็แนะว่า มีการดูแลหลังฉีดวัคซีน และผู้ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่พบอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อความลังเลใจลดลงแล้ว ควรรีบให้วัคซีนโดยเร็วที่สุด แต่สำหรับกลุ่มที่มีการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ให้พยายามสอบถามและรับฟังข้อมูล จากนั้นอาจส่งบุคลากรด้านสุขภาพจิตเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
“กรมสุขภาพจิต มีความห่วงใยอยากให้ประชาชนได้รับวัคซีนโควิด 19 จึงได้เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เร่งให้บริการวัคซีน เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในพื้นที่ Sand Box เปิดประเทศ โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือ สสจ. ค้นหากลุ่มเป้าหมายเพื่อดำเนินการ พร้อมกับส่งบุคลากรด้านสุขภาพจิตร่วมดูแล ใช้หลักการให้คำปรึกษา กลไกเชิงสังคม ร่วมกับ Vaccine เชิงรุก ให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323” แพทย์หญิงอัมพร กล่าว