กรมควบคุมโรค ห่วงสถานการณ์ไข้เลือดออก ย้ำมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค

        กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค เร่งป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียน


วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 พฤศจิกายน 2564 พบผู้ป่วย 9,084 ราย เสียชีวิต 6 ราย เป็นเพศชาย 5 ราย เพศหญิง 1 ราย อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด และกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเด็ก คือ มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และในผู้สูงอายุคือ การมีโรคประจำตัวเรื้อรัง สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า รวมถึงมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่พักอาศัย
“แม้ว่าในปีนี้ จำนวนคนป่วยจะน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา หรือลดลงมากกว่าร้อยละ 80 แต่คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีการระบาดมากขึ้น เพราะโรคไข้เลือดออกจะระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี เนื่องจากภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในคนลดลง ปัจจัยจากการเดินทางมากขึ้นในช่วงเปิดประเทศ หรือมีน้ำ ท่วมขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง นอกจากนี้ กลุ่มเด็กวัยเรียนยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด เมื่อสถาบันการศึกษาหลายแห่งเริ่มเปิดเรียนแบบออนไซด์ (on site) มากขึ้น แนะนำให้ใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือเก็บขยะให้เกลี้ยง เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เก็บน้ำให้มิดชิด โดยการเก็บขยะให้เป็นระบบ ทำให้สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงขอให้โรงเรียนจัดกิจกรรมเสริมในการจัดการสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียน เช่น กิจกรรม BIG CLEANING DAY เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย เพื่อไม่ให้ยุงเกิดและไม่ให้นักเรียนโดนยุงกัดจนป่วยซ้ำเติมสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน” ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา นายแพทย์โอภาส กล่าว
ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวนการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเสริมว่า ขอให้สังเกตอาการของคนภายในบ้าน หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้ คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก อีกทั้งหากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออกกับโรคโควิด 19 เมื่อมีอาการต้องสงสัยให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *