กรมควบคุมโรค เข้ารับรางวัล UNPSA จากผลงานการสกัดกั้นโควิด 19

       กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัล Winner ระดับประเทศ ของ UNPSA ด้วยผลงานการสกัดกั้นโรคไวรัสโคโรนา 2019

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ นพ.โอภาส-1.jpg
วันนี้ (13 ธันวาคม 2564) ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เข้ารับรางวัล United Nations Public Service Awards หรือ UNPSA จากผลงานการสกัดกั้นโรคไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีนายอังตอนียู มานูแวล ดึ ออลีไวรา กูแตรึช (António Manuel de Oliveira Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ เป็นผู้มอบรางวัล ภายในงานยังมีผู้แทนจากกลุ่มภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ แอฟริกา เอเชีย-แปซิฟิก ลาตินอเมริกา แคริบเบียน ยุโรป เข้าร่วมรับรางวัลด้วย

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้รับรางวัล Winner ระดับประเทศ ในหัวข้อเรื่อง “Intelligent Sustainable in Public Health Emergency System in Thailand” โดยผลการประเมิน จะใช้เครื่องมือดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก (GHS Index) โดยมีตัวชี้วัด ได้แก่ การป้องกัน การตรวจจับการตอบสนอง ระบบสุขภาพ มาตรฐาน และความเสี่ยง ซึ่งตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบนั้น ไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ อีกทั้งเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดอยู่ในอันดับ Top 10 ของโลก และที่ 1 ของเอเชีย ที่มีความพร้อมในการรับมือการระบาดของโรคมากที่สุด ซึ่งมีเพียง 13 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นกลไกสำคัญของระบบป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทยในการขับเคลื่อนกฎหมาย การดำเนินงานตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก จนนำการถอดบทเรียนความสำเร็จของกรมควบคุมโรคสู่การเป็นสถาบันต้นแบบการดำเนินงานให้กับประเทศภูมิภาคต่างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่นยืน SDGs สำหรับปัจจัยความสำเร็จของการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ประกอบด้วย 1) ความชัดเจนและถูกต้องของคำสั่งการ (Single command) 2) ทรัพยากรที่เพียงพอด้วย พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นโครงสร้างด้านความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน และกระจายอำนาจความรับผิดชอบ 3) การสื่อสารที่รวดเร็ว ถูกต้อง และเข้าถึงง่าย ทำให้ประชาชนมีความรู้ในการป้องกันตนเอง 4) ระบบปฏิบัติการที่มีความยืดหยุ่น มีการปฏิบัติงานที่เฉพาะตามบริบทของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ 5) ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ตรง การปรับหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่คนรุ่นหลัง และ 6) ความร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาค ประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพที่สำคัญที่สุด

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 1-3-1024x550.jpg
รางวัล United Nations Public Service Awards หรือ รางวัล UNPSA เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติระดับชาติ ที่จะมอบให้กับประเทศที่มีงานบริการภาครัฐที่เป็นเลิศ ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและระดับประเทศ เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในการบริการภาครัฐในระดับนานาชาติ สอดคล้องกับวาระและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development and Sustainable Development Goals (SDGs)) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านงานบริการภาครัฐ และการส่งเสริมการบริหารภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความโปร่งใส มีการบริหารราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเสมอภาคทั่วถึงและเท่าเทียม

**********************************
ข้อมูลจาก : กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 13 ธันวาคม 2564

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *