กรมวิทย์ฯ สร้างความเข้มแข็งหน่วยงานความร่วมมือทางห้องปฏิบัติการของ OECDเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยแข่งขันในตลาดการค้ากับต่างประเทศ

กรมวิทย์ฯ สร้างความเข้มแข็งหน่วยงานความร่วมมือทางห้องปฏิบัติการของ OECD
เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยแข่งขันในตลาดการค้ากับต่างประเทศ

วันนี้ (16 มิถุนายน 2566) สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดการสัมมนาสร้างความตระหนักรู้หน่วยงานความร่วมมือหลักปฏิบัติที่ดีทางห้องปฏิบัติการของ OECD โดยมี ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (สมป.) ผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บุคลากรผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องของหน่วยตรวจสอบ ขึ้นทะเบียนแห่งชาติ หน่วยงานศึกษาวิจัย/พัฒนา หน่วยกำกับดูแลทางกฎหมาย และผู้ประกอบการ เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี


ดร.ภัทรวีร์ สร้อยสังวาลย์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กล่าวว่า สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติ (National Compliance Monitoring Authority : CMA) ได้ผ่านการพัฒนาและผ่านการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินของสมาชิกเครือข่าย OECD จนได้รับการยืนยันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกแบบสมบูรณ์ของประเทศไทย ในการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมี (Full non member adherent to Mutual Acceptance of Data : MAD) จากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เคมีต่างๆ ของไทยที่ผ่านการศึกษาความปลอดภัยจากหน่วยงานที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนตามหลักการของ OECD GLP จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีสมาชิก OECD โดยไม่ต้องทำการทดสอบซ้ำในต่างประเทศ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการขึ้นทะเบียน และเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดการค้ากับต่างประเทศได้มากขึ้น
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากที่ได้เข้าร่วม MAD และ OECD Council ในฐานะหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติ ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 คือ พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติ สร้างเครือข่าย กับหน่วยงานความร่วมมือหลักหลักปฏิบัติที่ดีทางห้องปฏิบัติการของ OECD และสร้างการรับรู้ความเข้าใจ บทบาทหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยกำกับดูแลทางกฎหมาย หน่วยงานศึกษาวิจัย/พัฒนา และผู้ประกอบการ ให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกันตามระบบ OECD GLP ซึ่งจะนำไป สู่การเป็น Thailand OECD GLP Compliance Program ที่เข้มแข็งและช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ
“สำหรับการสัมมนาครั้งนี้มีการบรรยายเกี่ยวกับข้อกำหนดกฎหมายหรือประกาศของหน่วย กำกับดูแลทางกฎหมาย และขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Novel Food ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร นอกจากนี้ยังมีการบรรยายเรื่องระบบยอมรับร่วมของข้อมูล เรื่องการประเมินสารเคมี บทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการในระบบ OECD GLP และการบรรยายเรื่อง การตรวจสอบขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานศึกษาวิจัย/พัฒนาที่ดำเนินการสอดคล้องตามหลักการ OECD GLP อีกด้วย อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการหรือหน่วยงานสามารถสอบถามข้อมูลในเรื่อง OECD GLP ได้ที่สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 99067” ดร.ภัทรวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
16 มิถุนายน 2566

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *