คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ รองประธานบริหารอาวุโส สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้แทนพระองค์ เปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 31
วันนี้ (21 มิถุนายน 2566) เวลา 10.00 น. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้ คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ รองประธานบริหารอาวุโส สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้แทนพระองค์ เปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 31 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Smart Medical Sciences : Health for Wealth วิทยาศาสตร์การแพทย์ชาญฉลาด เพื่อสุขภาพที่ดีและเศรษฐกิจมั่งคั่ง” โดยมี นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วิทยากร นักวิชาการ นักวิจัย เครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งด้านห้องปฏิบัติการและคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และผู้ประกอบการที่ร่วมแสดงนิทรรศการ ร่วมต้อนรับผู้แทนพระองค์
โอกาสนี้ ผู้แทนพระองค์ ได้มอบโล่รางวัลแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์รุ่นใหม่ รางวัล DMSc Award จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ รางวัลชนะเลิศประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ รางวัลชนะเลิศประเภทการพัฒนาบริการหรือการพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ รางวัลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่น ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ระดับชาติ และมอบโล่ที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณในการจัดประชุม
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 31 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ในรูปแบบ Hybrid ทั้ง Onsite และ Online มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 2,000 คน เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาและร่วมกันสร้างสรรค์งานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้มีความก้าวหน้า เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน นอกจากนี้ยังมีวิทยากรรับเชิญที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ มีการจัดนิทรรศการ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ การนำเสนอผลงาน และประกวดผลงานทางวิชาการ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการส่งผลงานทั้งการนำเสนอด้วยวาจา และโปสเตอร์ จำนวนทั้งสิ้น 214 เรื่อง เป็นการนำเสนอด้วยวาจา 39 เรื่อง และโปสเตอร์ 175 เรื่อง ใน 4 สาขา ได้แก่ สาขา Current Research and Innovation on Diseases สาขา Current Research and Innovation on Consumer Protection สาขา Risk Assessment and Health Threat Warning และสาขา Medical Science for Strengthening Quality and Safety
“สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้แก่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ โดยแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เรื่อง Life-saving journey นักวิทยาศาสตร์การแพทย์รุ่นใหม่ ได้แก่ เภสัชกรจำรัส กาญจนไพบูลย์ เภสัชกรชำนาญการ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รางวัล DMSc Award จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง การผลิตทีเซลล์จำเพาะต่อแอนติเจนมะเร็ง เพื่อการรักษามะเร็งเต้านมชนิดทริปเปิ้ลเนกาทีฟด้วยการใช้ เซลล์เดนไดรตริกนำเสนอแอนติเจนมะเร็งชนิดนิวคลีโอลินหรือ มีโซทีลิน โดย ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงชนิตรา ธุวจิตต์ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลชนะเลิศประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง มะเร็งปอดชนิดยีนกลายพันธุ์ EGFR (EGFR-Mutant Lung Cancer) โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธัญนันท์ ใบสมุทร สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลชนะเลิศประเภทการพัฒนา บริการหรือการพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง การตรวจวิเคราะห์เซลล์เยื่อบุผิวกระจกตา ด้วยวิธี Impression cytology with Immunofluorescence โดย นางสาวณหฤทัย อินต๊ะสิน ภาควิชาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่น ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ระดับชาติ ได้แก่ นางวิรัตน์ แจ่มทุ่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย
* 21 มิถุนายน 2566