โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการของโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติไปจนถึงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกกำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศไทย เพราะแต่ละปีมีผู้ป่วยจากทุกภาคเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และโรคนี้มักระบาดมากในฤดูฝนเพราะมียุงลายชุกชุม
อาการของโรคไข้เลือดออก แบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่
- อาการระยะที่ 1 ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลันและไข้จะสูงลอยตลอดเวลาอยู่ประมาณ 2-7 วัน กินยาลดไข้ ไข้มักจะไม่ลด หน้าแดง ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ กระหายน้ำ เบื่ออาหาร อาเจียน ซึม บางรายอาจปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวาหรือปวดท้องทั่วไป และอาจมีท้องผูกหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ส่วนมากมักไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลหรือไอมากแต่บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ คอแดงและไอเล็กน้อยประมาณวันที่ 3 อาจมีผื่นแดง ไม่คันขึ้นตามแขนขาและลำตัวอยู่ประมาณ 2-3 วัน บางรายอาจมีจ้ำเขียวหรือจุดเลือดออกเกิดขึ้นซึ่งมีลักษณะเป็นจุดสีแดงเล็กๆ ขึ้นตามหน้า แขนขา ซอกรักแร้ ในช่องปาก และอาจคลำพบตับโตกดเจ็บเกิดขึ้นได้ ในระยะนี้ถ้ามีอาการรุนแรงจะปรากฏอาการระยะที่ 2 ต่อไป
- อาการระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก อาการมักจะเกิดช่วงวันที่ 3 – 7 ของโรคซึ่งถือว่าเป็นช่วงวิกฤต โดยอาการไข้จะลดลงอย่างรวดเร็วแต่ผู้ป่วยมักมีอาการทรุดหนักและมีภาวะช็อกเกิดขึ้น คือ กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ความดันเลือดต่ำ ซึม นอกจากนี้อาจมีเลือดออกตามผิวหนังหรือมีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น เลือดกำเดาไหล อาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นสีกาแฟ ระยะนี้กินเวลาประมาณ 24 – 48 ชม. ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3
- อาการระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว ในรายที่ได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที ภาวะช็อกไม่รุนแรงอาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น และอาการที่แสดงว่าผู้ป่วยดีขึ้น คือ เริ่มรับประทานอาหารได้ ลุกนั่งได้ และร่างกายจะค่อยๆฟื้นตัวสู่สภาพปกติ ระยะนี้อาจกินเวลาประมาณ 2-3 วัน รวมระยะเวลาของโรคไข้เลือดออกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วัน
ผู้ป่วยบางรายแค่มีอาการไข้ขึ้นสูง พอไข้ลดก็กลับบ้านได้เลย แต่ผู้ป่วยบางรายอาการหนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่เชื้อที่ได้รับ และภูมิต้านทานโรคของตัวผู้ป่วยเอง จึงทำให้ความรุนแรงของอาการไข้เลือดออกในแต่ละคนไม่เท่ากัน
ในช่วงที่รักษาตัวจนไข้ลด ภายใน 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจเกิดอาการช็อก หรือเลือดออกตามร่างกาย ซึ่งสาเหตุจากการเสียชีวิตในโรคนี้ก็มาจากอาการช็อก ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง (แม้เราจะไม่เห็นผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำจากภายนอกแต่ย่างใด) น้ำในหลอดเลือดจะไหลไปอยู่ในเนื้อเยื่อข้างเคียง ความดันเลือดลดลง จนเกิดอาการช็อกตามมา แต่หากไม่แสดงอาการใดๆ ก็จะถือว่าปลอดภัยแล้ว
โรคไข้เลือดออกติดต่อได้อย่างไร
โรคไข้เลือดออก มักติดต่อจากคนไปสู่คน ซึ่งมียุงลายเป็นตัวพาหะที่สำคัญ (Aedes aegypt) โดยยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี จากนั้นเชื้อจะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุงลาย ทำให้มีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวของยุงตลอดระยะเวลาของมันประมาณ 1 – 2 เดือน แล้วถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนที่ถูกกัดได้ ยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้าน มักออกกัดเวลากลางวัน มีแหล่งเพาะพันธุ์ คือ น้ำนิ่งที่ขังอยู่ในภาชนะเก็บน้ำต่างๆ อาทิ โอ่ง แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ จาน ชาม กระป๋อง หม้อ ยางรถยนต์ หรือกระถาง เป็นต้น
โรคไข้เลือดออก พบโดยมากในฤดูฝน เนื่องจากในฤดูนี้เด็กๆ มักจะอยู่บ้านมากกว่าฤดูอื่นๆ อีกทั้งยุงลายยังมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูฝน ซึ่งในเมืองใหญ่ๆ อย่าง กรุงเทพฯ อาจพบโรคไข้เลือดออกนี้ได้ตลอดทั้งปี
ลักษณะของยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก
ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก คือ ยุงลายตัวเมีย มีลักษณะเป็นลายสีขาวสลับดำที่ท้อง ลำตัวและขา พบมากตามบ้านอยู่อาศัยและในสวน ออกหากินในเวลากลางวันและขยายพันธุ์โดยวางไข่ในน้ำนิ่ง พบบ่อยตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น โอ่งน้ำ แจกันดอกไม้ จานรองขาตู้กับข้าว ยางรถยนต์เก่า และเศษวัสดุอื่นๆ เป็นต้น
การรักษาโรคไข้เลือดออก
การรักษา โรคไข้เลือดออก นั้นยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะตัวสำหรับกำจัดเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งที่สมควรทำมากที่สุด ในขั้นแรกเมื่อมีไข้สูงจะให้ยาพาราเซตามอล ห้ามให้ใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกรุนแรงขึ้น หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้และให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อย รวมถึงสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะช็อคได้ ซึ่งภาวะช็อคส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงที่ไข้ลด ผู้ปกครองควรทราบอาการ ได้แก่ อาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่าย หรือเซื่องซีม มือเท้าเย็นพร้อมๆ กับไข้ลด หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเกิดอาการเช่นนี้ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
- ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด
- จุดยากันยุงหรือใช้ยาทาหรือยาฉีดกันยุง และควรใช้อย่างระมัดระวัง
- ไม่ควรอยู่ในบริเวณที่อับลมหรือเป็นมุมมืด มีแสงสว่างน้อย
- หมั่นอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเพราะเหงื่อจะดึงดูดให้ยุงกัดมากขึ้น
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและใกล้เคียง
วิธีควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำได้ดังนี้
- กำจัด – ทำลาย – ฝัง – เผา เศษภาชนะที่ไม่ใช้ภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านไม่ให้มีน้ำขัง
- ควรปิดฝาโอ่งน้ำดื่ม น้ำใช้ ให้สนิท
- ใส่ผงซักฟอกหรือน้ำส้มสายชูหรือเกลือแกงหรือขี้เถ้าหรือทรายอะเบต หรือเทน้ำเดือดลงในจานรองขาตู้ทุกสัปดาห์
- ใส่ปลาหางนกยูงลงในอ่างบัว ถังเก็บน้ำในห้องน้ำเพื่อกินลูกน้ำ
- ขัดล้างภาชนะเก็บกักน้ำ เพื่อขจัดยุงลาย
- เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ทุก 7 วัน เพื่อทำลายไข่ยุงลาย
- ทำความสะอาดรางระบายน้ำฝนให้สะอาด
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบบ้าน ชุมชน ให้สะอาด
การดูแลตนเองหากเป็นโรคไข้เลือดออก
- ในระยะ 2 – 3 วันแรกของการเป็นไข้ถ้ายังรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ ไม่อาเจียน ไม่ปวดท้อง ไม่มีจ้ำเลือดขึ้นและยังไม่มีอาการเลือดออกหรือภาวะช็อกเกิดขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้
- ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมากๆ
- หากมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆและให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ผู้ใหญ่กิน 1-2 เม็ด เด็กโต ½ – 1 เม็ด เด็กเล็กใช้ชนิดน้ำเชื่อม 1- 2 ช้อนชา ถ้ายังมีไข้รับประทานซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
ห้ามให้ยาแอสไพริน โดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น - ถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กและเคยชัก ควรให้รับประทานยากันชักไว้ก่อน
- รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก และดื่มน้ำมากๆ
- เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- ถ้าผู้ป่วยอาเจียนมากหรือมีเลือดออกหรือมีภาวะช็อกเกิดขึ้นควรรีบส่งโรงพยาบาล
เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ ไข้เลือดออก
ถึงแม้ว่าเราจะรู้สาเหตุว่า ‘โรคไข้เลือออก’ นั้นเกิดมาจากอะไร และควรที่จะปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลสิ่งเหล่านั้นอย่างไร แต่ก็ยังข้อมูลอีกไม่น้อยที่เป็นความเชื่อผิด รวมถึงสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมาก วันนี้เราจะลองเอาให้ได้ทบทวนกันอีกครั้ง เพื่อให้การป้องกันไข้เลือดออกสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
- เมื่อเป็นไข้เลือดออกแล้วจะไม่กลับมาเป็นอีกจริงๆ เรื่องนี้ก็มีทั้งถูกและผิด เพราะเมื่อเป็นไข้เลือดออกครั้งแรกแล้ว ร่างกายของเราก็จะมีภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีก แต่ ! เชื้อไว้รัสที่เป็นต้นตอของไข้เลือดออกนี้มีอยู่ 4 สายพันธุ์ หากติดเชื้อจากสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันของสายพันธ์นั้น ถ้าหากเราติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กันกับในตอนแรก ภูมิคุ้มกันที่มีก็จะป้องกันสายพันธุ์ใหม่นี้ไม่ได้ทั้งหมด ก็อาจทำให้เป็นไข้เลือดออกได้อีก และอาจรุนแรงกว่าเดิมมาก
- กลุ่มอายุที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก
จากเก็บรวบรวมข้อมูล ก็ยังพบว่ากลุ่มอายุที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 10 – 14 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี , 15 – 24 ปี , 25 – 34 ปี ปิดท้ายด้วยกลุ่มอายุ 0 – 4 เดือน ซึ่งผู้ป่วยที่พบได้มากที่สุดจะเป็น นักเรียน ฉะนั้น เมื่อต้องใช้ชีวตอยู่ในโรงเรียนก็ต้องระมัดระวังไม่ให้อยู่กัด หรืออยู่ในบริเวณน้ำขังที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ - ถึงมีผู้ป่วยมาก แต่ก็ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่
รู้กันดีว่าโรคไข้เลือดออกนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งตอนนี้ทางการแพทย์ยังไม่มียาสำหรับฆ่าเชื้อให้หายได้ 100% เปอร์เซ็นต์ ทำได้เพียงรักษาไปตามอาการ ทั้งยังต้องเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออกอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์ก็จะมีหลักในการรักษา คือ ให้ยาพาราเซตามอลในระยะที่มีไข้สูง ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้อาการเลือดออกรุนแรงขึ้น ดูการเปลี่ยนแปลงของเกร็ดเลือดเป็นระยะ และมีให้สารน้ำชดเชยเพราะผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร มีอาการอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและโซเดียม นอกจากนั้น ยังต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่จะตามมาด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข.(2544).แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี. กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคติดต่อ.
สีวิกา แสงธาราทิพย์ ศิริชัย พรรณธนะ. (2543). โรคไข้เลือดออก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). พิมพ์ที่บริษัทเรดิเอชั่น จำกัด : สำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออกกรมควบคุมโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุข
สุจิตรา นิมมานนิตย์. (2542). โรคไข้เลือดออก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์ การเกษตรแห่งประเทศไทย
ออกแบบโดย : งานการศึกษาต่อเนื่อง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร. 0-2201-2256-7
งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง นางรุ่งฤดี จิณณวาโส และ นางภัทราพร พูลสวัสดิ์
จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520
ขอบคุณข้อมูล จาก ramaclinic