วันที่ 6 มกราคม 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามนโยบายท่านศุภมาส อิศรภักดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่เน้นย้ำ พัฒนาประเทศ โดยทำให้ อว. เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ต้องสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนและกับประเทศโดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ต้องเป็นความหวัง เป็นที่พึ่งของประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาสำคัญ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ได้พัฒนาศักยภาพเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ได้จัดการอบรม “เตรียมความพร้อมเพื่อการยอมรับร่วมการขยายขอบข่ายการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการสอบเทียบ” มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านกลไกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญสู่การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ณ อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในระดับเวทีโลกได้ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ เพื่อเน้นการสร้างมูลค่าและคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจในผลการทดสอบของสินค้า ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากเครื่องมือวัดที่เชื่อถือได้ของภาคอุตสาหกรรมทั้งในกระบวนการผลิตและการทดสอบว่า สามารถให้ผลการวัดมีความแม่นยำและผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากลสำหรับการประกันคุณภาพสินค้า ดังนั้นการสอบเทียบจึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผลการทดสอบ ทำให้สินค้าที่ประชาชนอุปโภคบริโภคมีคุณภาพ มีความปลอดภัย นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ในฐานะหนึ่งหน่วยรับรองระบบงานของประเทศไทย จึงมีความมุ่งมั่นที่จะขยายขอบข่ายการยอมรับร่วมด้านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการสอบเทียบกับองค์การความร่วมมือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ (Asia Pacific Accreditation Cooperation, APAC) และผลักดันให้จำนวนห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไทย กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงจัดอบรมในครั้งนี้ในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีจำนวนผู้เข้ารับการอบรมฯ กว่า 100 ท่าน ประกอบด้วยบุคลากรที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประเมิน คณะอนุกรรมการพิจารณารับรองระบบงานห้องปฏิบัติการจากเครือข่ายห้องปฏิบัติการ และคณะกรรมการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคทางวิชาการและแนวทางการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการสอบเทียบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17011 และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้อย่างถูกต้องสอดคล้องตามมาตรฐานสากลในการผลักดันห้องปฏิบัติการสอบเทียบของไทยให้ได้รับการรับรองฯ ตามมาตรฐาน ทำให้สินค้าและการบริการของไทยมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกต่อไป