กรมอนามัย มอบทีม SEhRT ลงพื้นที่เหตุไฟไหม้บ่อขยะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หวั่นประชาชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบประเมินความเสี่ยงสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไฟไหม้บ่อขยะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เสี่ยงได้รับสัมผัสการสูดดมควันไฟ เขม่า และฝุ่นละออง
จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567
เกิดเหตุไฟไหม้จุดคัดแยกขยะ ในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลกระแชง เขตติดต่อหมู่ 9 ตำบลบางปะแดง
อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้เกิดควันไฟ เขม่า และฝุ่นละอองปนเปื้อนในอากาศ
ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ลอยตามกระแสลมปกคลุมไปยังชุมชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง จากการตรวจสอบต้นเหตุ พบว่า จุดไหม้เกิดบริเวณที่จอดรถบรรทุก 6 ล้อ อาจเกิดจากมีเศษขยะไปอุดที่ท่อรถ
จนทำให้เกิดการจุดระเบิดและเกิดไฟไหม้ลุกลามไปยังบริเวณขยะที่กองอยู่บนพื้นดิน ลามไปยังโกดังคัดแยกขยะ และบ้านพักคนงาน ส่งผลให้ได้รับความเสียหายทั้งหมด ขณะนี้สามารถควบคุมเพลิงและควันไฟได้แล้ว และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้ จุดคัดแยกขยะดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับคัดแยกขยะ
มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ โดยผู้ประกอบการจะรับซื้อขยะที่ผ่านการคัดแยกมาแล้วบางประเภท เช่น กระดาษ ถุงพลาสติก นำมาคัดแยกและจำหน่ายต่อ ซึ่งสถานประกอบการแห่งนี้ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัย มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
จึงให้ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ประสานและร่วมลงพื้นที่กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ ทำการสำรวจข้อมูลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมโดยรอบจุดคัดแยกขยะ พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงสุขภาพของประชาชน พบว่าในระยะ 5 กิโลเมตร มีชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการสูดดมควันไฟ เขม่า เถ้า และฝุ่นละอองจำนวน 3 จุด คือ บริเวณใกล้กับพื้นที่บ่อขยะ ชุมชนวัดทุ่งศรีโพธิ์ อำเภอบางปะอินและบริเวณโรงเรียนวัดปากกราน อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากการประเมินด้านสุขภาพ พบว่าประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมควันไฟและฝุ่นละออง ไม่พบอาการรุนแรง และในส่วนของระบบการบำบัดน้ำชะขยะที่เกิดจากการดับไฟ น้ำชยะดังกล่าวจะไหลลงสู่บ่อน้ำในพื้นที่ของสถานประกอบการ ซึ่งเป็นลักษณะบ่อขุดแบบปิด และมีบางส่วนไหลซึมลงพื้นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และบริเวณพื้นที่โดยรอบที่เป็นทุ่งนาของชาวบ้าน ซึ่งอาจทำให้มีสารพิษบางส่วนจากน้ำชะขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้
“ทั้งนี้ กรมอนามัย ขอให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่
มีการสำรวจกิจการ สถานประกอบการในพื้นที่และดำเนินการควบคุม กำกับ รวมถึงทบทวนข้อบัญญัติว่ามีการควบคุมครอบคลุมไปถึงกิจการ สถานประกอบการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมทั้งเร่งหามาตรการป้องกันความเสี่ยงการเกิดไฟไหม้บ่อขยะที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในภายหลัง และผู้ครอบครองที่ดิน ผู้ดูแล และเจ้าของบ่อขยะ ต้องมีการจัดทำแผนรองรับการเกิดภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งสื่อสารสร้างการรับรู้ในการดูแล ป้องกันตนเองลดความเสี่ยงสุขภาพแก่ประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการให้บริการคุ้มครองด้านสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
*** กรมอนามัย / 9 กุมภาพันธ์ 2567