กรมอนามัยห่วงประชาชน เร่งส่งทีม SEhRT ดูแลสุขภาพ จากกรณีไฟไหม้บ่อขยะจ.อำนาจเจริญ

กรมอนามัยห่วงประชาชน เร่งส่งทีม SEhRT ดูแลสุขภาพ จากกรณีไฟไหม้บ่อขยะ
จ.อำนาจเจริญ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เร่งส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ ทำการประเมินความเสี่ยงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากกรณีไฟไหม้บ่อขยะ จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมทั้งให้ข้อแนะนำแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเฝ้าระวัง กำหนดมาตรการ แนวทางในการควบคุม เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้บ่อขยะซ้ำในพื้นที่


นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ ในพื้นที่เทศบาลตำบลเค็งใหญ่ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่บริเวณโดยรอบบ่อขยะ มีโอกาสเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการหายใจ สูดดมควันไฟ เขม่า
เถ้า และฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ และจากเหตุการณ์ไฟไหม้ดังกล่าว
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มีความกังวลและห่วงใยสุขภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพ จึงเร่งส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่สำรวจการปนเปื้อนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ประเมินความเสี่ยงผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบทันที ซึ่งผลการสำรวจเบื้องต้น พบว่า บ่อขยะแห่งนี้บริหารจัดการโดยเทศบาลตำบลเค็ง ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 5 ไร่ ลักษณะเป็นบ่อขยะ แบบเทกอง กลบขยะปีละ 1 ครั้ง ไม่มีการปกคลุมด้วยแผ่นผ้าใบ หรือแผ่นยางทำให้ขยะปลิวกระจายไปทั่วบริเวณ
อีกทั้งบริเวณโดยรอบไม่มีรั้วรอบขอบชิด และไม่มีระบบบำบัดน้ำกากขยะ แต่จากการสำรวจพบข้อเท็จจริงว่า บริเวณโดยรอบบ่อขยะเป็นพื้นที่ป่าสวนยางพาราเป็นแนวกั้นระหว่างบ่อขยะและชุมชน ซึ่งบริเวณโดยรอบ
ในรัศมี 5 กิโลเมตร มีบ้านเรือนของประชาชน 2 หมู่บ้าน และในระยะ 300 เมตร มีหนองน้ำขนาดใหญ่
(หนองฉิมใหญ่) และจากการสำรวจตรวจสารมลพิษในสิ่งแวดล้อม พบว่า มีค่าไม่เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับ
ความปลอดภัย ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงไม่ได้รับผลกระทบ และไม่มีการปนเปื้อนของน้ำจากการดับไฟในแหล่งน้ำ ดังนั้น ประชาชนจึงมั่นใจได้ว่าสามารถใช้น้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย และผลการสำรวจ
ความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ในระยะ 5 กิโลเมตร ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่โดยรอบประมาณ
60 หลังคาเรือน ไม่พบประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมควันไฟ เขม่า เถ้า และฝุ่นละออง
“นอกจากนี้ ทีม SEhRT ของ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่เทศบาลตำบลเค็งใหญ่ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อให้มีมาตรการควบคุม ป้องกัน และกำหนดแนวทางไม่ให้เกิดปัญหาไฟไหม้บ่อขยะซ้ำ ได้แก่ 1) ปิดกั้นพื้นที่ ให้มีรั้วรอบขอบชิด 2) จัดให้มีผู้ดูแล
บ่อขยะ ป้องกันไม่ให้มีบุคลลภายนอกเข้ามาในพื้นที่และอาจก่อประกายไฟจนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ในบ่อขยะ
3) จัดให้มีการปิดคลุมขยะหลังจากการเทกองในแต่ละวันเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะปลิวกระจายไปทั่วบริเวณ อาจทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และแมลงพาหะนำโรคได้ และ 4) มีกระบวนการแจ้งเตือนภัยประชาชนเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้
บ่อขยะ เพื่อให้ประชาชนอาศัยในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ นอกจากหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องดูแล ควบคุม กำกับการบริหารจัดการบ่อขยะให้เป็นไปตามแนวทางหรือมาตรฐานที่กำหนดแล้ว กรมอนามัย ขอให้ประชาชนที่พักอาศัยใกล้เคียงบ่อขยะทุกพื้นที่ หมั่นคอยสังเกตุความผิดปกติ หากพบประกายไฟ เปลวไฟ หรือพบเห็นควันไฟเกิดขึ้นในบริเวณบ่อขยะ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อระงับเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะทันที ก่อนจะมีการลุกลามขยายไปในวงกว้าง ลดความรุนแรงของเหตุการณ์ และลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพของตนเองและประชาชนใกล้เคียงได้” นายแพทย์ปกรณ์ กล่าว


กรมอนามัย / 14 กุมภาพันธ์ 2567

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *