เปิดประวัติไม่ธรรมดา หมอเกียรตินิยมเหรียญทอง ทุนอานันทมหิดล กวาด 13 เหรียญรวด ปริญญาเอกจากเคมบริดจ์ ผลงานระดับนานาชาติที่ต่างชาติเชื่อมือ เชื่อมเครือข่ายวิจัยระดับโลก
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส ในพิธีมอบ “เครื่องอิสริยาภรณ์ ปาล์ม อคาเดมิค” แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยพิธีจัดขึ้นอย่างสมเกียรติที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
สำหรับเครื่องอิสริยาภรณ์ ปาล์ม อคาเดมิค (Ordre des Palmes Académiques) เป็นเครื่องอิสริยาภรณ์แห่งชาติของสาธารณรัฐฝรั่งเศส สถาปนาขึ้นโดยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ในปี ค.ศ.1808 (พ.ศ. 2351) โดยเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สำหรับพลเรือนตระกูลที่เก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส ในปัจจุบันรัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นอย่างยิ่งทั้งทางด้านวิชาการ ด้านการศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ โดย ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์นี้เพื่อ “เชิดชูเกียรติการทำงานอันยอดเยี่ยมในฐานะนักวิจัยและผู้บริหารงานด้านการวิจัย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทย”
เปิดประวัติ “หมอสิริฤกษ์ “ สุดยอดทั้งบุ๋น-บู๊ จากแพทย์เกียรตินิยมเหรียญทอง สู่ปลัดกระทรวง อว.
ในพิธีมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสฯ ได้อ่านประกาศเกียรติคุณ ประวัติการทำงานและผลงาน และกล่าวแสดงความยินดีในฐานะผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสว่า ประเทศฝรั่งเศสได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์อันทรงเกียรติ เพื่อเชิดชูเกียรติการทำงานอันยอดเยี่ยมของ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทั้งในฐานะนักวิจัยที่มีผลงานสำคัญโดดเด่นในระดับโลก และในฐานะผู้บริหารการวิจัย อันเป็นบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทย รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกับประเทศฝรั่งเศส
สำหรับผู้ที่เข้าร่วมพิธีส่วนใหญ่ก็รู้จักหมอสิริฤกษ์ดีอยู่แล้วนั้น แต่เมื่อท่านทูตได้อ่านประวัติและประกาศเกียรติคุณ รวมทั้งตอนที่อดีตปลัด อว. กล่าวตอบรับและขอบคุณที่พูดเป็นภาษาฝรั่งเศสบางส่วนด้วย ก็ยิ่งทึ่งกับบทบาทของอดีตปลัด อว. เพราะเป็นหนึ่งในมันสมองชั้นยอดของประเทศ ผ่านงานระดับสูงสุดมาแล้วทุกแบบทั้งด้านวิชาการและด้านการบริหาร ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
นักเรียนทุนอานันทมหิดล กวาดรวด 13 เหรียญ
หมอสิริฤกษ์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมแล้วสอบเทียบเข้าศิริราช จบแพทย์เป็นที่ 1 ของรุ่น กวาด 13 เหรียญรวดครบทั้งด้านอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ หรือที่เรียกว่า “สูติ-ศัลย์-เมด-เด็ก“ แกรนด์สแลมของวงการแพทย์
เมื่อจบแพทย์แล้ว ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล” เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ไปที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำงานกับปรมาจารย์ด้านภูมิคุ้มกันและพันธุวิศวกรรมมือหนึ่งของโลก นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล จบปริญญาเอกจากเคมบริดจ์ แล้วไปทำงานที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับด้านไวรัสและโรคตับ ก่อนที่จะกลับมาเป็นอาจารย์สอนแพทย์ที่ศิริราช
“บุ๋น-บู๊” ผ่านงานทั้งด้านวิชาการ-บริหาร
ในช่วงหลังๆ คนมักจะเห็นบทบาทของปลัดสิริฤกษ์ในฐานะแม่ทัพหลักของกระทรวง อว. แต่สิริฤกษ์เป็นทั้งนักวิชาการและนักบริหารที่ต่างชาติยอมรับ ทำงานสองด้านคู่กันมาตลอดโดยอยู่ในจุดสูงสุดทั้งสองด้าน ในทางวิชาการ “หมอสิริฤกษ์” เป็นแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านภูมิคุ้มกันและพันธวิศวกรรม เป็นมือระดับโลกเรื่องโรคเมลิออยโดสิสและโรคไวรัสตับอักเสบซี ได้รับรางวัลที่สําคัญทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ เช่น ได้พระราชทานรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และรางวัล ASEAN Young Scientist and Technologist Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียน เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 37 ปี ปัจจุบันยังเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ และเป็นภาคีสมาชิกราชบัณฑิตสภา รวมทั้งได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านสาธารณสุขศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็น Honorary Fellow ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ล่าสุด ครม. แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)
ในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด หมอสิริฤกษ์ก็เป็นหัวหน้าทีมด้านนวัตกรรมการแพทย์ใน ศบค. ดูแลการวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลการระบาด ที่เห็นเป็นกราฟได้รับการเผยแพร่มากที่สุดทุกวันเป็นเวลาเกือบสามปี
ในด้านการบริหาร ผ่านงานบริหารตำแหน่งสำคัญครบถ้วน ทั้งผู้อํานวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และปลัดกระทรวง อว. โดยเพิ่งเกษียณอายุราชการเมื่อเดือนตุลาคม 2566
ช่วงที่เป็น ผอ. นาโนเทคยุคบุกเบิก ได้สร้างผลงานออกมาต่อเนื่อง สร้างชื่อเสียงทำให้คนรู้จักนาโนเทคที่เป็นเทคโนโลยีใหม่มากในตอนนั้น เมื่อเป็นเลขา วช. ได้ดูแลงานวิจัยในภาพรวมของประเทศ เป็นมือประสานสิบทิศกับทางมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัย เป็นหนึ่งในกรรมาธิการร่างกฎหมายกว่า 10 ฉบับเพื่อก่อตั้งกระทรวง อว. ต่อมาในปี 2563 มาเป็นปลัดกระทรวง อว. ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะมีทั้งอาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นมันสมองมือหนึ่งของประเทศ แต่ปลัดสิริฤกษ์ได้ขึ้นรูปกระทรวงใหม่ สร้างผลงานที่ชัดเจน ประสานได้กับทั้งฝ่ายมหาวิทยาลัย ฝ่ายสถาบันวิจัย และฝ่ายให้ทุน เพราะเป็นคนแรกที่ทำงานระดับสูงสุดมาแล้วทั้งสามด้าน เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา-ปฏิรูประบบวิจัย ทั้งการจัดแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย ตั้งโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T ดูแลการตั้งโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ ฉีดวัคซีนโควิดกว่า 1 ล้านโดส ตลอดจนเข้าไปสะสางปัญหาเรื้อรังที่มีอยู่เป็นเวลานานในหน่วยงานวิจัยหลักบางแห่ง จนบางครั้งก็เกิดแรงกระเพื่อมมาก แต่ได้รับคำชื่นชมจากคนส่วนใหญ่ในแวดวงวิชาการว่ามีทั้งวิสัยทัศน์และพูดจริงทำได้จริง
ในด้านต่างประเทศ หมอสิริฤกษ์ยืนในแถวหน้าทั้งทางวิชาการและบริหาร ทั้งวิจัยบรรยายทางวิชาการไฮเทคกับทั้งวิทย์ทั่วโลก เป็นประธานและสามารถนำการประชุมกับผู้บริหารที่ต่างชาติเชื่อมือ ผ่านเวทีทั้งระดับอาเซียน เอเชีย ยุโรป เอเปค เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานสมาพันธ์นาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย นั่งหัวโต๊ะบนเวทีนานาชาติในฐานะประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของอาเซียน ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งอาเซียน ประธานการประชุมความร่วมมือทางนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวัตกรรมของเอเปก เป็นต้น ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ล่าสุดได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ ปาล์ม อคาเดมิค แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส