กรมสุขภาพจิต สนับสนุน พม. และ เอไอเอส ดันภารกิจสร้างพลเมืองดิจิทัลให้รู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์ดันหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์”
สู่บุคลากร พม.ครบ 100% พร้อมส่งต่อไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัย
วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2567) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมมือกับ AIS และภาคีเครือข่าย ทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างภูมิคุ้มกันรับมือปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน พร้อมส่งต่อทักษะความฉลาดทางดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ไปยังบุคลากรของ พม. และ ประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)
ที่มีภูมิคุ้มกัน สามารถใช้งานสื่อออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ อันจะนำมาสู่การยกระดับสุขภาวะดิจิทัลให้กับคนไทยที่รู้เท่าทัน
ทุกภัยไซเบอร์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์
ถือเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต
ให้กับคนไทย พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนใช้งาน
โลกออนไลน์อย่างปลอดภัย โดยครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับ AIS ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้บุคลากรของเรากว่า 11,000 คน ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่ม
ทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัย เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในโลกออนไลน์
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทางกรมสุขภาพจิตมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนกับทาง พม.
โดยเนื้อหาที่กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมจัดทำกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ เอไอเอส นั้น มีความเหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย
ที่เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ พร้อมกระตุ้นเตือน แนะนำให้สามารถใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะได้มีทักษะความรู้ในการ
ใช้งานบนโลกออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง โดยหลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ร่วมกับการเรียนรู้หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ประกอบด้วยแนวคิด 3 รู้ ได้แก่
- รู้ข้อมูลข่าวสาร รู้แหล่งแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ 2. รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง 3. รู้ที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ครอบครัว หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งวันนี้ กรมสุขภาพจิต มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในภารกิจส่งต่อ
องค์ความรู้นี้ไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งผู้สูงวัย กลุ่มเปราะบางต่างๆ เพื่อจะได้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถรับมือกับภัยออนไลน์ที่นับวันก็จะทวี
ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยกระดับองค์ความรู้ รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มมีภูมิคุ้มกันภัยบนโลกออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม การสรรหาเทคโนโลยีที่จะส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู พร้อมบริการด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ป่วย ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและประชาชน การที่ได้ร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน จึงเป็นนิมิตหมายอันดียิ่งที่จะทำให้ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทย ได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นทางอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลเราไม่เพียงเดินหน้าเพื่อพัฒนา
โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อคนไทยเพียงเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทยที่เราเชื่อว่าการเสริมสร้างองค์ความรู้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน จัดการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะ
และพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม โดยครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ และความมั่นคงในชีวิตของประชาชนอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตร
ที่มุ่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกทักษะในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง เข้าไปให้บุคลากรของกระทรวงฯ ได้ศึกษาเรียนรู้ และส่งต่อไปยังประชาชนคนไทยทุกช่วงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ ได้เสริมทักษะดิจิทัล รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ สามารถใช้งานออนไลน์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัย
และสร้างสรรค์
โดยการทำงานร่วมกันครั้งนี้ ได้ปรับเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้สอดคล้องกับทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเป็นพลเมืองดิจิทัลสำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้มีความเหมาะสม เช่น การเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานในองค์กร เป็นต้น ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้าไปเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่ www.learndiaunjaicyber.ais.co.th, แอปพลิเคชั่น อุ่นใจ CYBER, www.m-society.go.th, www.dop.go.th และแอปพลิเคชัน Gold by DOP
23 กุมภาพันธ์ 2567