เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจและกระจายรายได้ สร้างโอกาสและลดความเลื่อมล้ำทางสังคมด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ซึ่งตนได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) วิจัยและพัฒนา ฟื้นฟูกระบวนการผลิตกระเบื้องโบราณเพื่อการบูรณะงานและอุตสาหกรรมระดับชุมชน เช่น ประติมากรรมมังกรจีนศาลเจ้า “เกียนอันเกง” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานส่วนองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนในย่านชุมชนกุฎีจีน อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมความศรัทธาไทย-จีน สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อายุกว่า 200 ปี และขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศและลงสู่ภาคอุตสาหกรรมชุมชนให้คงอัตลักษณ์ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมระดับชุมชน ด้วยการเพิ่มมูลค่าอัตลักษณ์วัฒนธรรมจากผลการดำเนินงาน คาดว่าจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยปี 2567 กว่า 1 หมื่นล้านบาท
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า วศ.อว. ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายท่านรัฐมนตรี.อว. ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชุมชนด้วยการพัฒนาและฟื้นฟูวิธีการผลิตกระเบื้องประดับตัวมังกรจีนและในรูปแบบอื่น ๆ ตามวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่โดยระบุการใช้อุณหภูมิการเผาเคลือบและเวลาการเผาที่เหมาะสมกับสูตรเคลือบเซรามิก เพื่อให้ได้กระเบื้องใหม่ที่มีความเหมือนกับโบราณวัตถุดั้งเดิมมากที่สุด นับเป็นการปูทางสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่ผสานระหว่างความงามแบบศิลปะดั้งเดิมและการผลิตกระเบื้องแบบสมัยใหม่ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับกรมศิลปากร และพันธมิตรเอกชนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ วศ.อว. เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเซรามิกครบวงจรมากว่า 40 ปี ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกและคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน โดย วศ.อว. ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิต การพัฒนาฝีมือแรงงาน ออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิกที่สวยงามและมีคุณสมบัติพิเศษตามวัตถุดิบที่ใช้ รวมไปถึงส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อให้ผู้ประกอบการในชุมชนสามารถพัฒนาต่อยอดส่งออกสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้ นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า ในอนาคต วศ.อว. จะขยายความร่วมมือกับกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้เชิงอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุทั่วประเทศไทย
เนื่องจากเป็นมรดกของประเทศและโลกอันทรงคุณค่าและมีมูลค่าในตัวเอง ดังนั้น
การบูรณะให้คงอยู่ในสภาพเดิมได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จะมีผลต่อความภาคภูมิใจของคนไทยและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม