
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีระบบในการตรวจวินิจฉัยเชื้อแอนแทรกซ์ทางห้องปฏิบัติการจากผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ เพื่อตอบสนองนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศ การยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการได้ถูกต้อง รวดเร็ว จะช่วยให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับสามารถเตรียมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้อย่างเต็มที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มีความพร้อมทางด้านห้องปฏิบัติการ ให้บริการเพาะแยกเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) สาเหตุของโรคแอนแทรกซ์ จากสิ่งส่งตรวจ ทั้งเลือด เสมหะ อุจจาระ ป้ายแผล เป็นต้น ด้วยการแยกและเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการ ชีวนิรภัย ระดับ 3 (BIOSAFETY LEVEL LABORATORY, BSL3) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับการปฏิบัติงาน กับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคที่มีอันตรายสูง มีระบบการไหลเวียนที่ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้ออันตรายแพร่กระจายออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก บุคลากรผ่านการฝึกอบรมความปลอดภัยทางชีวภาพ มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนว่าจะไม่มีเชื้อโรคอันตรายเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อม และตรวจยืนยันเชื้อด้วยการทดสอบคุณสมบัติทางชีวเคมี ร่วมกับ การวิเคราะห์ด้วยวิธี real-time PCR และ next-generation sequencing“นอกจากนี้ กรณีเกิดโรคระบาดเหตุฉุกเฉิน ยังมีการประสานกับห้องปฏิบัติการเครือข่ายโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั่วประเทศ ในการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ เพื่อดำเนินการตามภารกิจต่อการตอบสนองการป้องกันควบคุมโรคแอนแทรกซ์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจและรายงานผลได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ภายใน 3 วันทำการ หลังจากที่ห้องปฏิบัติการได้รับตัวอย่าง” นายแพทย์ยงยศ กล่าว