📍 ‘จีโนมิกส์ประเทศไทย’
กับอีกหนึ่งความรู้ใหม่ ไขแนวทางวินิจฉัย-รักษา
โรคหายาก ‘ท้าวแสนปม’ ให้รอด-ลดความรุนแรง
…………………
📍 “โรคท้าวแสนปม” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ นิวโรไฟโบรมาโตซิส ชนิดที่ 1 (NF1) เป็นหนึ่งในโรคหายากที่แม้จะไม่มีอุบัติการณ์มากเหมือนหลายโรค โดยอัตราการเกิดของโรคคิดเป็นสัดส่วนคือ 1 : 2,500-4,000 ของประชากรทั่วโลก หรือหมายความว่า ในจำนวนคนราว 8 พันล้านคน มีคนเป็น NF1 ราว 2 – 3 ล้านคน แต่ในอนาคตอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งโรคนี้ยังเป็นโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตมากที่สุดโรคหนึ่ง ทั้งทางร่างกายโดยตรง และทางจิตใจโดยอ้อม ด้วยก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งบางรายอาจรู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัส และหากเกิดขึ้นที่อวัยวะสำคัญอย่างเช่นตา ก็อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ หรือถ้าเกิดขึ้นที่ขาก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถเดินได้ และมากไปกว่านั้น ก้อนเนื้อเหล่านี้ยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง อีกทั้งด้วยจำนวนของก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นทางผิวหนังภายนอก มักถูกคนทั่วไปจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าเป็นโรคติดต่อทางผิวหนัง และไม่อยากเข้าใกล้ ตลอดจนอาจใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางสังคม
📍 ที่สำคัญคือโรค NF1 นี้ ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ โดยปัจจัยสำคัญมาจากการขาดองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และแม้ตอนนี้จะรู้ว่าสาเหตุของการเกิดโรคนั้นเกิดจากความผิดปกติของยีนที่ชื่อ NF1 แต่ด้วยเหตุอะไรทำให้อาการของผู้ป่วย NF1 จึงมีความรุนแรงแตกต่างกันนั้น แพทย์และนักวิจัยก็ยังมีความพยายามหาคำตอบเรื่องนี้อยู่
📍 ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะที่เป็นหน่วยประสานกลางในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญจากการเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวคือ การศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับโรค NF1 ของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเกี่ยวข้องกันของลักษณะอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย NF1 กับการกลายพันธุ์ของยีน NF1 และยีนต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสสารพันธุกรรม (Next Generation Sequencing: NGS) จะสามารถบ่งบอกสิ่งเหล่านั้นได้หรือไม่ โดย สวรส. ได้ร่วมกับทีมวิจัยนำโดย นพ.วุทธิชาติ กมลวิศิษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย “ความสัมพันธ์ระหว่างการกลายพันธุ์กับลักษณะการแสดงออกทางคลินิกของผู้ป่วยโรคท้าวแสนปม (ปีที่ 1 และ 2)” เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางพัฒนาการวินิจฉัยโรค NF1 ซึ่งจะช่วยให้การรักษาผู้ป่วย NF1 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
📍 นพ.วุทธิชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้กำหนดกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย NF1 และคนในครอบครัว จำนวน 180 คน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากชมรม NF1 Thailand ที่ช่วยประสานรับอาสาสมัครผู้ป่วย NF1 จากทั่วประเทศ ส่วนในการศึกษาจะมีการซักประวัติและตรวจร่างกายของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างละเอียด จากนั้นจะมีการนำเลือดส่งไปถอดรหัสสารพันธุกรรมด้วยวิธี Next Generation Sequencing (NGS) หรือการถอดรหัสพันธุกรรมโดยการหาลำดับเบส แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ต่อ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า การกลายพันธุ์ของยีน NF1 มีความเป็นไปได้ว่ามีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น โดยการกลายพันธุ์บางกรณี หรือที่เรียกว่า nonsense and frameshift ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด น่าจะส่งผลให้ยีนมีความเสียหายค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยมีความรุนแรงมากกว่าการกลายพันธุ์ในกรณีอื่นๆ อย่างเช่นการเกิดกลุ่มก้อนเนื้องอกที่เส้นประสาทตา และความผิดปกติของกระดูก
📍 นพ.วุทธิชาติ อธิบายต่อไปว่า นอกจากนี้ในบางกรณี การกลายพันธุ์ที่เรียกว่า splice site variant มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดกลุ่มก้อนเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด ฉะนั้นผู้ป่วย NF1 ที่ถูกตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีน
ในลักษณะดังกล่าว ควรมีการติดตามอาการและเฝ้าระวังภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งทางผิวหนังและเส้นประสาทตา รวมถึงควรมีการส่งตรวจร่างกายโดยใช้สนามแม่เหล็ก (MRI) มากกว่าผู้ป่วย NF1 ที่มีการกลายพันธุ์ในแบบอื่นๆ
📍 สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัย นพ.วุทธิชาติ เสนอว่า 1) ควรนำผลการศึกษาที่ได้ไปพิจารณาปรับใช้เป็นแนวทางในการตรวจหาหรือการเลือกวิธีตรวจหาความผิดปกติของยีน NF1 รวมถึงการเฝ้าระวังอาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย NF1 และ 2) หน่วยบริการในประเทศไทยควรเข้าถึงการตรวจหาความผิดปกติของยีน NF1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยการรักษา รวมถึงการตรวจคัดกรองและวางแผนการดูแลในครอบครัว
📍 “จากผลวิจัยสามารถนำไปปรับใช้เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรค NF1 และเลือกวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมที่สุด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย หรือการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์แต่ละแบบต้องทำอย่างไร ซึ่งหลังจากนี้ทีมวิจัยจะนำผลการศึกษาที่ได้ไปนำเสนอกับคณะกรรมการของสมาคมเวชพันธุศาสตร์ก่อน เพื่อร่วมกันพัฒนาเป็นแนวทางในการรักษาโรค NF1 ของคนไทยต่อไป” นพ.วุทธิชาติ กล่าวเสริม
📍 นพ.วุทธิชาติ บอกอีกว่า การต่อยอดงานวิจัยหลังจากนี้ จะพยายามหาคำตอบเพิ่มเติมจากโจทย์ต่อไปในประเด็นสำคัญๆ เช่น ในร่างกายมนุษย์มียีนอะไรอีกบ้างที่อาจส่งผลให้อาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรค NF1 แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่นักวิจัยไทยอาจจะสามารถหาคำตอบได้ และจากผลการวิจัยอาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตเช่น การพยากรณ์โรค หรือการหาทางรักษาที่ตรงจุดได้มากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ต้องเก็บข้อมูลอาการและพันธุกรรมของผู้ป่วยอย่างละเอียดและมีจำนวนมากกว่านี้ เพื่อการสรุปผลที่ชัดเจนได้มากขึ้นต่อไป
📍 ด้านคุณบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยเพื่อศึกษาที่มาที่ไปของการเกิดโรคอย่างเช่นโรคท้าวแสนปมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ที่ สวรส. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และเป็นการขับเคลื่อนในส่วนของการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคหายากต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยนำเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์เข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศ ให้เกิดมาตรฐานใหม่ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์จีโนมิกส์ได้อย่างมีคุณภาพ