“วัดพระบาทน้ำพุ” จ.ลพบุรี สถานชีวาภิบาลต้นแบบ เขตสุขภาพที่ 4 ดูแลพระสงฆ์อาพาธ ผู้สูงอายุและ ผู้ป่วยระยะท้าย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบ เขตสุขภาพที่ 4 “วัดพระบาทน้ำพุ” จ.ลพบุรี ให้การดูแลแบบประคับประคองกลุ่มพระสงฆ์อาพาธ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนและภาครัฐ
วันนี้ (19 เมษายน 2567) ที่วัดพระบาทน้ำพุ อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหารเป็นประธานเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบ เขตสุขภาพที่ 4 “วัดพระบาทน้ำพุ” จ.ลพบุรี พร้อมมอบเกียรติบัตรการรับรอง สถานชีวาภิบาลในชุมชนและองค์กรศาสนาและเกียรติบัตรขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการแด่พระราชวิสุทธิประชานาถ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ โดยมี พระปัญญาวิสุทธิโมลี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ฝ่ายธรรมยุติ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 คณะผู้บริหาร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และ อสม.เข้าร่วม
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ปัจจุบัน ประชากรสูงอายุและพระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เจ็บป่วยในระยะท้ายเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย 1 เขตสุขภาพ 1 สถานชีวาภิบาล เพื่อให้การดูแลพระสงฆ์อาพาธ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้าย ครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย ใจ ปัญญา และสุขภาพทางสังคม โดยมีพระคิลานุปัฏฐาก และผู้ช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ผ่านการอบรม ร่วมกันดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมหลักที่สำคัญ คือ การเข้าถึงยาที่จำเป็น และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพ
รวมทั้งการบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วยพื้นฐานการดูแลแบบประคับประคอง จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนและภาครัฐได้
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า จังหวัดลพบุรี เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีประชากรสูงอายุ 21.10% เป็นผู้ที่มีภาวะติดเตียง 1,051 คน และมีผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2,670 คน ในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบดูแลแบบประคับประคอง 1,921 คน หรือประมาณ 71% ได้พัฒนาต่อยอด “วัดพระบาทน้ำพุ” ให้เป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบของเขตสุขภาพที่ 4 เนื่องจากมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะประคับประคองมายาวนานถึง 31 ปี โดยใช้อาคารวลัยลักษณ์ ซึ่งเดิมเป็นสถานที่รักษาและพักฟื้นผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยโรคเอดส์ มาปรับปรุงเป็นสถานพักฟื้นให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวม 32 เตียง ประกอบด้วย 3 ห้องใหญ่ คือ ห้องหญิง 10 เตียง ห้องชาย 10 เตียง พระสงฆ์ 10 เตียง และ 2 ห้องเล็ก คือ ห้อง End of life 2 เตียง ภายใต้การขับเคลื่อนแบบบูรณาการของเขตสุขภาพที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ** 19 เมษายน 2567