“ชลน่าน” ลงพื้นที่ “แม่สอด” ติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขผู้หนีภัยเมียนมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา แจง รพ.แม่สอดมีการประกาศแผนรับผู้ป่วยฉุกเฉิน เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก และยุติแผนเมื่อดูแลผู้ป่วยเสร็จสิ้น ขณะนี้เตรียมพร้อมระบบผ่าตัดและส่งต่อทั้งจังหวัด รวมห้องผ่าตัด 19 ห้อง ไอซียู 36 เตียง
วันนี้ (22 เมษายน 2567) ที่โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา โดย นพ.ชลน่านกล่าวว่า วันนี้ได้ติดตามการดำเนินงาน 2 จุด คือ โรงพยาบาลแม่สอด เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือและเวชภัณฑ์ต่างๆ ส่วนอีกจุดคือพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่ราชการจัดไว้รองรับผู้หนีภัยฯ ซึ่งจะมีมาตรการคัดกรองสุขภาพ เฝ้าระวังป้องกันโรค และดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า คืนวันที่ 20 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลแม่สอดมีการประกาศแผนฉุกเฉิน เป็นแผนด้านการรองรับผู้ป่วยหมู่ เนื่องจากมีผู้ป่วยส่งเข้ามาพร้อมกันถึง 22 คน ซึ่งเป็นแผนรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินตามปกติของโรงพยาบาล มี 3 ระดับ คือ รุนแรงสูงสุด มีผู้บาดเจ็บหนัก 7 คน ผู้ป่วยมากกว่า 20 คน รุนแรงปานกลาง มีผู้บาดเจ็บหนักน้อยกว่า 7 คน ผู้ป่วยรวมมากกว่า 10 คน แต่ไม่เกิน 20 คน และระดับรุนแรงน้อย โดยเมื่อให้การดูแลผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วก็จะยุติแผนฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการบาดเจ็บ ที่ผ่านมา มีผู้รับบาดเจ็บต้องรับการผ่าตัดรวม 41 ราย ซึ่งหน่วยงานในมิติด้านสาธารณสุข เราให้การดูแลผู้ป่วยทุกราย ไม่แยกว่าเป็นฝ่ายใด และเมื่อผู้ป่วยดีขึ้นสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงรับไปดำเนินการดูแลต่อ
สำหรับแผนรองรับผู้ป่วยดังกล่าว ได้จัดเตรียมห้องผ่าตัดและเตียงโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลพบพระ โรงพยาบาลแม่ระมาด โรงพยาบาลท่าสองยาง โรงพยาบาลอุ้มผาง และโรงพยาบาลแม่สอด รวมห้องผ่าตัด 19 ห้อง และไอซียู 36 เตียง กรณีมีการผ่าตัดมากกว่า 4 ราย จะส่งต่อในจังหวัด และหากมากกว่า 10 ราย จะพิจารณาส่งต่อในเขตและจังหวัดใกล้เคียง ส่วนบริเวณพื้นที่ปลอดภัยฯ ได้จัดพยาบาลและเจ้าหน้าที่ประจำทุกวันๆ ละ 3 คน และแพทย์โรงพยาบาลแม่สอดให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระบบนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน และได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ไว้รองรับ ขณะที่ด้านสุขาภิบาล น้ำกินจะใช้แบบบรรจุขวดเท่านั้น ส่วนน้ำใช้ มีการตรวจวัดและเติมคลอรีนในน้ำ ให้คำแนะนำตรวจสอบอาหารทุกมื้อ แนะนำการจัดการขยะ และจัดอาสาสมัครในกลุ่มผู้หนีภัยฯ ช่วยจัดการขยะในพื้นที่
22 เมษายน 2567