วันโรคหลอดเลือดสมอง (World Stroke Day) “รู้เร็ว รักษาเร็ว หายไว ห่างไกลอัมพาต”

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แนะประชาชนตื่นตัวในการป้องกันตนเองจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี หากมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดลำบาก มองเห็นภาพซ้อนโดยมีอาการแบบเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะช่วยลดความพิการหรือเสียชีวิตได้

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองมีกระบวนการรักษาทั้งการให้ยาฉีดละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง หรือการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองภายใน 24 ชั่วโมง โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก ในประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 และเป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะที่สำคัญอันดับ 2 พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง หากเกิดโรคแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความพิการหลงเหลืออยู่ ส่งผลกระทบต่อ การดำเนินชีวิตต่อครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและความพิการลงได้ การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ประชาชนจะต้องมีความรู้ เรื่องปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค การป้องกัน การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อเกิดโรค โดยสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคนี้ได้ด้วย การควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ภาวะโรคอ้วน ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ

ว่าที่ร้อยตำรวจโทหญิง แพทย์หญิง นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเตือนสำคัญ ที่สังเกตได้ด้วยตนเองคือ อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก ตามัว เห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก และต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง อาการเหล่านี้ มักเกิดอย่างเฉียบพลัน ในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว อาจเกิดอาการขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดอาการขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดอย่างถาวร สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้น และรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด จะช่วยลดการเสียชีวิต และความพิการได้ ปัจจุบันมีกระบวนการรักษาทั้งการให้ยา ฉีดละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง และการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมอง หากเป็นหลอดเลือดเส้นใหญ่อุดตันภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ สถาบันประสาทวิทยาจึงได้จัดกิจกรรมวันโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) ประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการ เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง และตรวจหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง : วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดรอบเอว คำนวณดัชนีมวลกาย รวมทั้งการตรวจพิเศษ สำหรับผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ได้แก่ ตรวจระดับไขมันในเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง) จำนวน 150 คน ตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ จำนวน 50 คน และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สำหรับบุคคลที่ชีพจรเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องโรคหลอดเลือดสมองเพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการป้องกัน และการดูแลรักษา โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ วันที่ 29 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 9 สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
กรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #วันโรคหลอดเลือดสมอง
ขอขอบคุณ 28 ตุลาคม 2567