กรมการแพทย์เน้นย้ำรับเทศกาลฮาโลวีน ไม่เชื่อ ไม่ลบหลู่ แต่ต้องดูให้ถี่ถ้วน อาการผีเข้า เราอธิบายได้

กรมการแพทย์เน้นย้ำรับเทศกาลฮาโลวีน ไม่เชื่อ ไม่ลบหลู่ แต่ต้องดูให้ถี่ถ้วน อาการผีเข้า เราอธิบายได้

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการคล้ายผีเข้าเกิดจากความผิดปกติของระบบจิตประสาท ซึ่งมีโรคหรือภาวะความผิดปกติหลายอย่าง ที่ทำให้ผู้ป่วยหรือญาติ รู้สึกเหมือนว่าโดนผีเข้า ยกตัวอย่างเช่น อาการมองเห็นภาพหลอน อาการขนลุก ตาเหลือก เคี้ยวปาก กรีดร้อง ไม่รู้สึกตัว พฤติกรรมและอารมณ์เปลี่ยนแปลง พูดคุยคนเดียว แขนขาเกร็งเป็นพัก หรือ ควบคุมตัวเองไม่ได้เป็นพัก ๆ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคทางระบบประสาทได้หลายภาวะ เช่น ภาวะสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันผิดปกติต่อตัวรับ NMDA (NMDA Receptor) ภาวะสมองอักจากตัวรับชนิดอื่น ๆ โรคลมชัก ภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น ทุกอาการสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพกายเพียงอย่างเดียว สุขภาพใจของทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัว ก็มักจะได้รับผลกระทบด้วย การเยียวยาสุขภาพใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลควบคู่กันไป ซึ่งความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่อส่วนบุคคลไหน ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษา บุคลากรทางการแพทย์ก็ยินดีที่จะสนับสนุนให้ทำควบคู่ไปกับการตรวจรักษา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและญาติมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ

ว่าที่ร้อยตำรวจโทหญิงแพทย์หญิงนภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะกลุ่มที่สงสัยว่าจะเป็นอาการสมองอักเสบ มักจะมีอาการนำมาด้วย ไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ร่วมกับอาการที่ทำให้เข้าใจผิดว่าผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น นอนไม่หลับ สับสน ก้าวร้าวหรือเซื่องซึม ประสาทหลอน เป็นต้น หากผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจรักษา ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เคี้ยวปาก แลบลิ้น มือและเท้าขยับไปมาร่วมกับมีอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ชีพจรผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายสูงหรือต่ำผิดปกติ อัตราการเต้นของหัวใจสูง ความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์แผนปัจจุบันก่อนกระบวนการทางไสยศาสตร์หรือความเชื่อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติและสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย
การวินิจฉัย แพทย์ระบบประสาท จะต้องทำการซักประวัติทั้งจากผู้ป่วยและญาติอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกายทางระบบประสาท และส่งตรวจเลือดร่วมกับน้ำหล่อเลี้ยงสมองร่วมไขสันหลังเพื่อหาเชื้อไวรัส และหาชนิดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจอื่นๆตามอาการ เช่น การตรวจเอ็มอาร์ไอ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
ปัญหาสำคัญที่ทำให้การรักษาล่าช้า เนื่องจากอาการของโรคกลุ่มนี้ ทำให้ผู้ป่วยหรือญาติคิดว่าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ จึงทำให้เข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันโดยเฉพาะแพทย์โรคทางสมองและระบบประสาทล่าช้า ทั้ง ๆ ที่ทุกอาการสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ กรมการแพทย์โดยสถาบันประสาทวิทยา จึงขอเน้นย้ำว่า เราสามารถร่วมดูแลผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กันได้ เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัว ยังคงมีที่พึ่งทางใจ ในขณะที่เข้ารับการรักษาโรคทางกาย เพราะทุกวินาทีมีค่าสำหรับโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง


สถาบันประสาทวิทยา #กรมการแพทย์ ขอขอบคุณ 31 ตุลาคม 2567

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *