สรพ.ร่วมกับ HACC รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ชวน รพ.เครือข่าย สร้างวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัย


HACC รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จัดมหกรรมคุณภาพ ชวนโรงพยาบาลเครือข่ายใน 4 จังหวัดภาคเหนือ สร้างวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยอย่างยั่งยืน ด้านผู้อำนวยการ สรพ. ชี้เมื่อมี Growth Mindset แล้วต้องต่อยอดรวมตัวกันทำสิ่งดีๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมร่วมและพัฒนาเป็นวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัยในที่สุด
ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (HACC:CRH) จัดงานมหกรรมคุณภาพ ภายใต้หัวข้อ “สร้างวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” (Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability) ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ย. 2567 โดยมีผู้แทนโรงพยาบาลในเครือข่าย HACC:CRH จาก จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ และ จ.น่าน เข้าร่วมประชุมทั้งแบบ Onsite และ Online


พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability โดยระบุถึงเหตุผลที่เลือกประเด็นดังกล่าวมาขับเคลื่อนในปีนี้ว่า ในแต่ละปี สรพ. จะมีประเด็นใหม่ๆ มาชวนโรงพยาบาลขับเคลื่อน โดยธีมในปีที่ผ่านมาคือเรื่อง Growth Mindset for Batter Healthcare System ซึ่งเป็นการชวนให้ทุกคนเห็นคุณค่าและความหมายของตัวเอง ชวนให้เกิด Growth Mindset ว่าเราทุกคนทำได้ และทำได้ดีกว่าเดิมในทุกๆวัน อย่างไรก็ดี แม้แต่ละคนจะมี Growth Mindset แล้ว แต่ยังเป็นเรื่องส่วนบุคคลล ต่างคนต่างทำ แต่หากทุกคนมี Growth Mindset พร้อมๆ กันในเรื่องที่ดี น่าจะเกิดเป็นวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัยและนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ดังนั้น แนวคิดของปีนี้จึงเป็นเรื่อง Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability นั่นเอง
พญ.ปิยวรรณ กล่าวขยายความถึงคีย์เวิร์ดสำคัญ เริ่มจากคำว่าคุณภาพ หรือ Quality ในระบบสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ให้นิยามคำว่า ระดับของบริการสุขภาพสำหรับบุคคลและประชากรที่จะเพิ่มความเป็นไปได้ของผลลัพธ์สุขภาพที่พึงประสงค์ และสอดคล้องกับความรู้ของวิชาชีพซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ขณะที่ความหมายของคุณภาพระดับสูง หรือ High Quality ของบริการสุขภาพ คือ การดูแลที่ถูกต้อง ทันเวลา และตอบสนองต่อความต้องการทางสุขภาพและความพึงพอใจของผู้ป่วย โดยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายให้น้อยที่สุดและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งมิติที่สำคัญของคุณภาพในระบบสุขภาพ คือ ในแง่ความปลอดภัย หรือ Safety ต้องมีการออกแบบระบบที่รับประกันได้ว่า กระบวนการดูแลจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ลดข้อผิดพลาด และไม่ทำให้เกิดอันตรายใหม่ในอนาคต ในแง่ประสิทธิผล ต้องมีการดูแลบนพื้นฐานขององค์ความรู้เพื่อทำให้เกิด Best Outcome มีการเรียนรู้อัพเดทการดูแลคนไข้ที่ทำให้เกิดประสิทธิผล ขณะที่ในแง่การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ต้องให้การดูแลด้วยความรักและเคารพในความแตกต่างของแต่ละคน และตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะตัว ความจำเป็น และคุณค่าของผู้ป่วย เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมตัดสินใจในในกระบวนการรักษา ส่วนในแง่ของเวลา ต้องออกแบบกระบวนการเพื่อลดความซับซ้อน ไม่ให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น ในแง่ของประสิทธิภาพ คือการส่งมอบบริการโดยใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และในแง่ความเสมอภาค ต้องรับประกันได้ว่าบริการที่ส่งมอบแก่ผู้ป่วยนั้นมีความเท่าเทียม ไม่เกิดความแตกต่างกัน


ทั้งนี้ ทิศทางที่ สรพ. พยายามชวนให้โรงพยาบาลทำคือการส่งมอบบริการที่มีคุณภาพแก่ทุกคนทุกที่ โดยการออกแบบระบบที่แตะไปถึงผลลัพธ์บริการ ตั้งแต่ในโรงพยาบาล ไปถึงระบบบริการสุขภาพ ไปจนถึงระบบสุขภาพที่แตะไปถึงปัจจัยกำหนดสุขภาพในชุมชน สังคมในแต่ละพื้นที่ นำไปสู่ 3P Safety
พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า คีย์เวิร์ดต่อมาคือคำว่าความปลอดภัย หรือ Safety ในระบบสุขภาพ ซึ่งไม่เพียงเป็นเรื่องสำคัญแต่ถือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เมื่อมานอนโรงพยาบาลแล้วต้องมีความปลอดภัย โดยในส่วนของประเทศไทยได้ดำเนินการตาม Global Agenda มีการพัฒนามาเป็นเป็นนโยบาย 2P Safety และต่อยอดมาเป็น 3P Safety ในปัจจุบัน โดยในส่วนของผู้ป่วย (Patient) คือการป้องกันอันตรายที่เกิดจากกระบวนการดูแลรักษา ขณะเดียวกัน ในส่วนของบุคลากรสาธารณสุข (Personnel) คือการป้องกันอันตรายที่เกิดจากกระบวนการทำงาน และในส่วนของประชาชน (People) คือการหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากระบบสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้มีการกำหนดเป้าหมายความปลอดภัยและบูรณาการเข้าไปในกระบวนการรับรองคุณภาพของ สรพ.
สำหรับคีย์เวิร์ดสุดท้ายคือ การสร้าง Quality and Safety Culture ในระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน พญ.ปิยวรรณ มองว่า การสร้าง Quality ต้องอาศัยการบริหารจัดการ อาศัยความพยายามและความร่วมมือจากผู้คนที่หลากหลาย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ 1. Quality Planning 2. Quality Control 3. Quality Assurance และ 4. Quality Improvement ซึ่งส่วนมากโรงพยาบาลในไทยทำ 2 อย่าง คือ Quality Planning แล้วข้ามไป Quality Improvement เลย จึงไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ดังนั้นในการทำ Quality Management ต้องรู้โจทย์ก่อนว่าจะทำเรื่องอะไรกับกลุ่มเป้าหมาย มีการตั้งเป้าหมายของงาน แล้วออกแบบกระบวนการ ซึ่งก็คือ Quality Planning โดยต้องชัดเจนว่าใครทำอะไรกับใคร ทำแค่ไหน จะควบคุมกำกับอย่างไร และจะวัดผลอะไร หากขาดเรื่องเหล่านี้จะทำให้ไม่สามารถ Action หรือทำ Quality Control ได้เต็มที่
ทั้งนี้ เมื่อมีการ Action และมีการวางแผนแล้วว่าจะวัดผลอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงจะนำมาสู่กระบวนการเรียนรู้ หรือ Quality Assurance และเมื่อเห็นผลลัพธ์แล้วจึงจะรู้ว่าจะต้องทำ Quality Improvement ในเรื่องอะไร อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการทำ Quality Management เพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น การออกแบบระบบจะต้องคำนึงเพิ่มเติมถึงความท้าทาย ผลกระทบ ความเสี่ยงและคาดการณ์เตรียมพร้อมในการออกแบบระบบบริการ ขณะที่ในขั้นตอนการปฏิบัติงานก็ต้องพร้อมตอบสนองต่อสถานการณ์และคำนึงถึงผลกระทบในทุกอณูของการปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ต้องมีเรื่องของ Risk Management ด้วยจึงจะเกิด Resilience Healthcare และสิ่งสุดท้ายที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนเป็น High Reliability Organization ได้ ต้องอยู่ที่ Mindset, Mindfulness และ Culture
“ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการสร้าง Culture หรือวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัยในองค์กร เมื่อคนที่มี Growth Mindset มารวมกันทำสิ่งดีๆ ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมร่วม กลายเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัย การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนลงมือทำ การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัยที่ความยั่งยืนในอนาคต เราให้ความสำคัญไม่เพียงแค่การเพิ่มคุณภาพแก่บริการทางการแพทย์ แต่ยังต้องสร้างความมั่นใจ ไว้วางใจจากผู้ป่วยและชุมชนรอบข้างด้วย”พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *