กรมการแพทย์เตือน“รู้เร็ว รักษาเร็ว หายไว ห่างไกลอัมพาต”

กรมการแพทย์เตือน“รู้เร็ว รักษาเร็ว หายไว ห่างไกลอัมพาต”

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แนะประชาชนตื่นตัวในการป้องกันตนเองจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี หากมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดลำบาก มองเห็นภาพซ้อนโดยมีอาการแบบเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองมีกระบวนการรักษาทั้งการให้ยาฉีดละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง หรือการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองภายใน 24 ชั่วโมง โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก ในประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 และเป็นสาเหตุของการเสียปีสุขภาวะที่สำคัญอันดับ 2 พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง พบว่าอัตราตายโรคหลอดเลือดสมองเท่ากับ 48.7 ต่อแสนประชากร หากเกิดโรคแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความพิการหลงเหลืออยู่ ส่งผลกระทบต่อ การดำเนินชีวิตต่อครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและความพิการลงได้ การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ประชาชนจะต้องมีความรู้ เรื่องปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค การป้องกัน การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อเกิดโรค โดยสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคนี้ได้ด้วย การควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ภาวะโรคอ้วน ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ

ว่าที่ร้อยตำรวจโทหญิง แพทย์หญิง นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเตือนสำคัญ ที่สังเกตได้ด้วยตนเองคือ อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก ตามัว เห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีกและต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดอย่างเฉียบพลัน ในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว อาจเกิดอาการขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดอาการขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดอย่างถาวร สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปพบแพทย์ ให้เร็วที่สุด จะช่วยลดการเสียชีวิต และความพิการได้ สำหรับแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัดไขมันสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมันและน้ำตาล ในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบหรี่ รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นประชาชนควรตระหนักและมีความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

กรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #โรคหลอดเลือดสมอง

                                                                                                                            ขอขอบคุณ 

27 พฤศจิกายน 2567

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *