กรมควบคุมโรค เผยพบสารฟอร์มาลดีไฮด์ในบุหรี่ไฟฟ้า เตือนประชาชน “ยิ่งสูบยิ่งอันตรายต่อสุขภาพ”
กรมควบคุมโรค เตือนนักสูบบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบมีสารฟอร์มาลดีไฮด์ หรือยาดองศพ เป็นส่วนผสมในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งได้
วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ปัจจุบันเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับภัยอันตรายที่แฝงมากับผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการเติมสารปรุงแต่งกลิ่นและรส ที่มีส่วนประกอบจากสารพิษและสารเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “น้ำยาดองศพ” ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายที่ปล่อยออกมาในระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้ได้รับละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า
ผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา พบสารฟอร์มาลดีไฮด์
ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารฟอร์มาลดีไฮด์สามารถแทรกซึมลึกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เสี่ยงเกิดมะเร็ง รวมถึงเสี่ยงเกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนังได้
กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนสร้างความเข้าใจกับบุตร หลาน อย่าหลงเชื่อคำลวง
และตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าได้ที่สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านท่าน
***************************
ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567
แหล่งข้อมูล :
Ruggiero JL, Voller LM, Shaik JA, Hylwa S. Formaldehyde in Electronic Cigarette Liquid (Aerosolized Liquid). Dermatitis. 2022 ;33(5):332-336.
Salamanca JC, Meehan-Atrash J, Vreeke S, Escobedo JO, Peyton DH, Strongin RM. E-cigarettes can emit formaldehyde at high levels under conditions that have been reported to be non-averse to users. Sci Rep. 2018 ;8:7559.
Sleiman M, Logue JM, Montesinos VN, Russell ML, Litter MI, Gundel LA, Destaillats H. Emissions from Electronic Cigarettes: Key Parameters Affecting the Release of Harmful Chemicals. Environ Sci Technol. 2016;50(17):9644-51.