กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ เปิดให้บริการผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดครบวงจร เพื่อรองรับการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8
วานนี้ (27 พฤศจิกายน 2567) กรมสุขภาพจิตโดยโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ เปิดหอผู้ป่วยชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยบำบัดและฟื้นฟูระยะพ้นวิกฤต ขนาด 30 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดร่วมแบบครบวงจรในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว เพราะผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาให้ทันต่อเวลาในสถานที่ที่มีความปลอดภัย มีการเฝ้าระวังความเสี่ยงเป็นพิเศษเพื่อให้ได้รับการบำบัดรักษา ดูแลอาการทางจิตให้สงบในโรงพยาบาลเฉพาะทาง และแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการรักษาที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีแดง รวมทั้งการดูแล ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยในกลุ่ม
สีเขียวและสีเหลืองที่อยู่ในชุมชน มีอาการทางจิตเวชรุนแรงจนกระทั่งกลายมาเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีส้ม และสีแดง โดยในการเปิดหอผู้ป่วยชัยพฤกษ์ โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ในครั้งนี้ กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าหมายในการรองรับผู้เข้ารับการบำบัดรักษาในเขตสุขภาพที่ 8 ในจังหวัดจังหวัดนครพนม สกลนคร บึงกาฬ และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งผู้ป่วยจาก สปป.ลาว เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงการปรับปรุงสถานพยาบาลที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยและมีมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยพัฒนากำลังคนและเครื่องมือที่จะนำไปใช้ดำเนินงานควบคู่กัน มุ่งเน้นการพัฒนาโปรแกรมการบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายอย่างแท้จริง มีการประสานเพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ และต่อเนื่องในโรงพยาบาลที่มีศูนย์มินิธัญญารักษ์หลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล โดยนำร่องในจังหวัดนครพนม ที่มีการเปิดให้บริการมินิธัญญารักษ์แล้วจำนวน 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอธาตุพนม อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอนาหว้า อำเภอศรีสงคราม อำเภอเรณูนคร อำเภอท่าอุเทน อำเภอบ้านแพง อำเภอปลาปาก และอำเภอวังยาง ส่วนอีก 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาแก และอำเภอนาทม จะเปิดบริการในปีงบประมาณ 2568 และผู้ป่วยบางรายจะส่งบำบัดต่อในสถานฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและติดตามอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะให้ผู้ป่วยกลับไปอยู่ไปอยู่ที่บ้าน
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า และในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ได้เปิดบริการหอผู้ป่วยบำบัดและฟื้นฟูระยะพ้นวิกฤติ ภายใต้ชื่อหอผู้ป่วยชัยพฤกษ์ ขนาด 30 เตียง เพื่อบำบัดผู้ป่วยจิตเวชสารเสพติด ร่วมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพและฝึกทักษะการใช้ชีวิตในครอบครัวและชุมชน ก่อนที่จะจำหน่ายผู้ป่วยเพื่อเข้ารับบริการต่อเนื่องในรูปแบบการบริการผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดที่บ้าน (Psychiatric Home Ward : PHW) ซึ่งในปัจจุบันเปิดให้บริการจำนวน 30 เตียง และจะเพิ่มเป็น 60 เตียง ในปีงบประมาณ 2568 ในกรณีที่ผู้ป่วยและญาติมีความพร้อมและสมัครใจ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สมัครใจจะประสานให้ได้รับการบำบัดในมินิธัญญารักษ์ในพื้นที่ก่อนกลับสู่ชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ต่อเนื่องและครบวงจร ลดความเสี่ยงในการกลับไปใช้สารเสพติดซ้ำและก่อความรุนแรงในสังคม นอกจากนี้ยังมีการเปิดอาคารผู้ป่วยผู้จิตเวชและสารเสพติดครบวงจรที่ทำการปรับปรุงประกอบด้วยชั้นที่ 1 ศูนย์การบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า ( ECT Center) ให้บริการผู้ป่วยทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ชั้นที่ 2 หอผู้ป่วยบำบัดและฟื้นฟูระยะพ้นวิกฤต (Intermediate Care & Rehab Ward) เป็นหอผู้ป่วยขนาด 30 เตียง โดยการนำรูปแบบการบำบัดจากผลการวิจัยที่ทางโรงพยาบาลได้พัฒนาขึ้นมาใช้ในการบำบัดผู้ป่วย ชั้น 3 หอผู้ป่วยจิตเวช (Psychiatric Ward) เป็นหอผู้ป่วยขนาด 42 เตียง รับผู้ป่วยในกลุ่มโรคจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคจิตเภท และกลุ่มโรคทางอารมณ์ โดยใช้ระบบพยาบาลเจ้าของไข้ (Case Manager) ร่วมกับการบำบัดเฉพาะทางจากทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ เภสัชกร นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์ และนักกิจกรรมบำบัด ชั้น 4 หอผู้ป่วยเฉพาะทางจิตเวชและสารเสพติด (Addiction Psychiatric Ward) เป็นหอผู้ป่วยขนาด 42 เตียง รับผู้ป่วยในกลุ่มโรคจิตเวชสารเสพติดในระยะวิกฤต และชั้น 5 ศูนย์บำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติด (Rehab & Recovery Center) เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมบำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่รับไว้รักษาจนอาการทางจิตดีขึ้นอยู่ในระยะฟื้นฟู โดยทีมนักจิตทยาคลินิกโดยใช้กิจกรรมกลุ่มจิตบำบัดแบบภาพสะท้อนอีกด้วย
28 พฤศจิกายน 2567