จาก “International Migrants Day 2024” สู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดน กับความร่วมมือเครือข่ายทั้งใน-ระหว่างประเทศ ร่วมขับเคลื่อน “แผนสุขภาพประชากรข้ามชาติ”

จาก “International Migrants Day 2024” สู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดน กับความร่วมมือเครือข่ายทั้งใน-ระหว่างประเทศ ร่วมขับเคลื่อน “แผนสุขภาพประชากรข้ามชาติ” เพื่อการเข้าถึง พร้อมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ กับสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนเเละประสานกลางการขับเคลื่อนแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีความต้องการแรงงานต่างด้าวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยแรงงานต่างด้าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ต่อหัวของประชากรไทย หรือจีดีพี คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 6.2% ส่วนระบบประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมี 2 ระบบคือ ระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นระบบที่มีการให้บริการแตกต่างกัน นอกจากนี้ภาระในการให้บริการแรงงานต่างด้าวของสถานพยาบาลบางพื้นที่ พบผู้ป่วยนอกคิดเป็น 15% ส่วนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลคิดเป็น 27% ซึ่งประเทศไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลปีละหลายร้อยล้านบาท สำหรับหลายประเทศมีการให้บริการบางอย่างฟรีกับคนทุกคน เช่น การให้วัคซีน เนื่องจากไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่ได้รับเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับชุมชนและคนรอบข้างด้วย หรืออย่างวัณโรค วิธีจัดการโรคคือการหาผู้ป่วยให้เจอและรักษาให้หายขาด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายต่อ ฉะนั้นการให้บริการสุขภาพพื้นฐาน จึงจำเป็นต้องดูแลทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ทั้งนี้การดูแลสุขภาพของประชากรข้ามชาติในประเทศไทย เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและนานาชาติมีความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และหนึ่งในนั้นคือการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2029 (WHO-RTG Country Cooperation Strategy : CCS) โดยมี สวรส. ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการบริหารแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการช่วยผลักดันให้เรื่องสุขภาพประชากรข้ามชาติเกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการระดมงบประมาณจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิความเป็นธรรมด้านสุขภาพในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติและผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ โดยการดำเนินงานในระยะถัดไป สวรส. จะเน้นไปที่การทำงานเชิงรุก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิและความเป็นธรรมของประชากรข้ามชาติ โดยจะผลักดันให้เกิดหลักประกันและการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *