
เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคาร 3 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองมูลนิธิป้องกันควบคุมโรค ร่วมกับ กรมควบคุมโรคโดย สปคม.และสถาบันราชประชาสมาสัย จัดประชุมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการประเมินสมรรถนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ (Medical fitness to drive) ปี 2568 รุ่นที่ 1

นายแพทย์เอนก มุ่งอ้อมกลาง รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการประเมินสมรรถนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ (Medical fitness to drive) ปี 2568 รุ่นที่ 1

โดยมี นายแพทย์ไผท สิงห์คำ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.)เป็นผู้กล่าวรายงาน วัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานคลินิกเวชศาสตร์การจราจรมีความรู้และทักษะการประเมินสมรรถนะของผู้ขับขี่ยานพาหนะได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สร้างความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุ
ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และนักวิชาการสาธารณสุข จากพื้นที่นำร่องคือ พื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 จำนวน 40 คน รวมทั้งรพ.นพรัตนราชธานี 1 ท่านรวมทั้งสิ้น 41 คน
นพ.เอนก กล่าวต่อไปว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน และลดอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ขับขี่ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะโรคต่างๆ ที่อาจมีผลต่อความสามารถในการขับขี่ได้อย่างปลอดภัย
จากสถานการณ์ภาพรวมประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565 มีจำนวน 17,379 ราย (จากข้อมูล 3 ฐาน ของกรมควบคุมโรค) เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 ร้อยละ 2.5
กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญมีนโยบายเปิดคลินิกเวชศาสตร์การจราจร 24 แห่งทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2568 นี้ โดยคลินิกดังกล่าวจะให้บริการตรวจสุขภาพที่จำเป็นสำหรับการต่ออายุใบอนุญาตขับขี่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่และลดอุบัติเหตุจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ขับขี่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ภายในปี 2568 นี้
การจัดประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสมรรถนะของผู้ขับขี่ยานพาหนะจากสถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษาและสปคม. ได้แก่ นพ.ภาสวิชญ์ ดุษฎีวิจัย พญ.พณัญญา เชื้อดำรง และทีมงาน มีทั้งบรรยาย สาธิตและฝึกปฏิบัติการทดสอบสมรรถนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ แบ่งเป็น 8 ฐาน ได้แก่… การทดสอบสมรรถนะปอดโดยวิธีสไปโรมิทรีย์ การได้ยิน การมองเห็น การนอนหลับ การทดสอบการขับขี่โดยเครื่องจำลองการขับขี่ (Simulator Test) การคัดกรองและการทดสอบสมาธิ-สุขภาพจิต การเอกซเรย์ปอด และการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ(ตรวจสารเสพติด)
ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินสมรรถนะของ ผู้ขับขี่ได้อย่างแม่นยำและเหมาะสม เกิดการยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดอุบัติเหตุ และสร้างสภาพแวดล้อมการขับขี่ที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกคนนพ.เอนก กล่าว



